https://eis.yru.ac.th/-/dragon222/

อาจารย์ระดับบัณฑิตศึกษา อบรมปฏิบัติการ "การออกแบบ CLOs และกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (OBE) ตามมาตรฐาน AUN-QA"

อาจารย์ระดับบัณฑิตศึกษา อบรมปฏิบัติการ "การออกแบบ CLOs และกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (OBE) ตามมาตรฐาน AUN-QA"

7 มีนาคม 2567 (ผู้ดูแลระบบ) ข่าวกิจกรรม

วันนี้ (ุ6 มีนาคม 2567) กองบริการการศึกษา สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดกิจกรรมอบรมปฏิบัติการ "การออกแบบ CLOs และกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (OBE) ตามมาตรฐาน AUN-QA" โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมพบปะพูดคุยชี้แจงนโยบายในการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยแก่คณาจารย์ผู้เข้าร่วมอบรม ณ ห้องประชุมบุผา โรงแรมสยามออเรียลทัล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 6–7 มีนาคม 2567 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรม ได้แก่ ตัวแทนอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและบุคลากรสายสนับสนุน รวมทั้งสิ้น 149 คน พร้อมกันนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะฉัตร จิตต์ธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากรให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการออกแบบ CLOs

   รองศาสตราจารย์ ดร.ลิลลา อดุลยศาสน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและคุณภาพบัณฑิต ได้กล่าวกำชับการดำเนินการพัฒนา/ปรับปรุงหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร และสอดคล้องกับแนวทางการตรวจสอบหลักสูตรของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้เพื่อให้หลักสูตรที่ใช้จัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลามีคุณภาพและมาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร

   ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โรสลีนา อนันตนุกูลวงศ์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองบริการการศึกษา สำนักงานอธิการบดี กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้หลักสูตรและอาจารย์สามารถปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่แต่ละหลักสูตรกำหนด สามารถพัฒนาทักษะการออกแบบและจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับรายวิชา ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นเป้าหมายหรือผลลัพธ์ตามนโยบายการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่อไป ทั้งนี้การผลิตบัณฑิตในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมการเรียนรู้ ผนวกกับการปรับมาตรฐานการอุดมศึกษาในปี 2565 ที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดขึ้น จากการศึกษาผู้เรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ได้จากการศึกษา ฝึกอบรม หรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติ และสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความรู้ (Knowledge) ด้านทักษะ (Skills) ด้านจริยธรรม (Ethics) และด้านลักษณะบุคคล (Character)